ปุ่ม “ชำระเงิน” มันกดง่ายมาก!!
พ่อแม่เหนื่อยกันไหมครับที่ต้องคอยห้าม คอยเตือนลูกไม่ให้อยากได้นี่ได้นั่น แต่ต้องยอมรับนะครับว่ายุคนี้ของล่อตาล่อใจเห็นง่ายยิ่งกว่าเซเว่นฯ และมีแอปฯ ธนาคารพร้อมโอนในทันที ฉะนั้น การห้ามลูกไม่ให้อยาก มันก็ช่างท้าทายพ่อแม่ซะเหลือเกิน
แต่มันก็มีวิธีพูดที่พ่อแม่จะทำให้ลูกคิดก่อนใช้เงินได้อยู่ โดยเคล็ดลับนี้มาจากคิมเบอร์ลี พัลเมอร์ (Kimberly Palmer) ผู้เขียนหนังสือ SMART MOM, RICH MOM: How to Build Wealth While Raising a Family ผ่านประสบการณ์แม่ลูกสองพร้อมกับตำแหน่งคอลัมนิสต์เรื่องการเงินแห่งชาติซึ่งเธอได้แนะนำวิธีการพูดเรื่องการใช้เงินให้ลูกเข้าใจไว้ดังนี้
- บอกประสบการณ์การใช้เงินแบบพลาดๆ ของคุณให้ลูกฟัง เพราะเด็กๆ อยากฟังเรื่องผิดพลาดของพ่อแม่ ไม่ใช่เพียงเพื่อสะใจแต่เป็นการทำให้พวกเขารู้ว่าไม่เป็นไรสมบูรณ์แบบ
- บอกวิธีหาเงินและนิสัยการใช้เงินของคุณให้ลูกได้รู้ ปกติแล้วเวลาพ่อแม่ได้เงินมาไม่ว่าจะจากเงินเดือนของบริษัทหรือเงินจากลูกค้า ลูกแทบไม่เห็นตัวเองเงินนั้นเลย ฉะนั้น สิ่งที่พอจะทำให้ลูกรู้รายได้ของพ่อแม่คือการบอกเขา โดยบอกให้รู้ถึงความยากลำบากในการหาเงินเพื่อนำไปซื้อของที่ต้องการเป็นตัวอย่างให้กับลูก
- บอกให้ลูกรู้เท่าทันสื่อโฆษณา เด็กส่วนมากถูกล่อตาล่อด้วยสื่อโฆษณาหรือรีวิวสินค้าต่างๆ การสอนให้ลูกรู้จักวิเคราะห์สื่อโฆษณาให้เป็นก็จะเป็นเรื่องดีไม่น้อยต่อกระเป๋าตังค์ของแม่
- บอกให้ลูกมีความฝันอันยิ่งใหญ่ แม้เรื่องความฝันเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการใช้เงิน แต่ถ้าฝันของลูกคุณยิ่งใหญ่และจำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุนจากพ่อแม่ก็เป็นไปได้ที่ลูกคุณจะยอมสละไม่ซื้อสิ่งของราคาแพงๆ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของคุณคือกระตุ้นให้ลูกวาดฝันของเขาและอธิบายให้เขาเข้าใจว่าที่คุณไม่ให้เงินไปซื้อของที่ลูกอยากได้เพราะต้องเก็บเงินเพื่อสานฝันของลูกให้สำเร็จ
- บอกวิธีการใช้จ่ายบัตรเครดิตและบัญชีธนาคารกับลูก ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายแบบเต็มหรือจ่ายขั้นต่ำต่อเดือน ถือเป็นการสอนลูกหมุนเงินไปในตัวเลย
- พูดเรื่องเงินกับบุคคลที่สามให้ลูกเห็น ไม่ว่าจะเป็นการคุยโทรศัพท์กับบริษัทของคุณเรื่องเงินปันผลหรือการขอรับการบริการที่ดีกว่าที่คุณเคยได้รับ เพื่อให้ลูกคุณได้เรียนรู้จากการฟังและเป็นการฝึกให้ลูกกล้าพูด กล้าขอเกี่ยวกับเรื่องเงินมากขึ้น
จากเทคนิคทั้ง 6 ข้อที่บอกไปล้วนเป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์การใช้เงินของพ่อแม่ทั้งนั้น ฉะนั้น อย่าลืมสอนลูกๆ นะครับ เพราะเขาจะใช้เงินเป็นหรือไม่เป็นก็อยู่ที่การสื่อสารจากพ่อแม่นี่แหละ
ติดตามรายการรอลูกเลิกเรียน ตอน ลูกใช้เงินฟุ่มเฟือย
อยากรู้ว่าคุณสื่อสารกับลูกเรื่องการใช้เงินได้ดีหรือไม่?
เรียนรู้ 10 เทคนิคการสื่อสาร